อุปกรณ์อาบน้ำแบบพกพา(LiLi)
Team : Three Turtles
Member
Ms Nutbongkot Srisukkho
Mr Jessada Toumpoung
Ms Naerunchala Nugvej
ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่เรามักใช้เป็นประจำอย่างสบู่ แชมพูและครีมนวด มักมีบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เนื่องจากสถานที่ที่เราใช้เป็นส่วนมากคือที่อยู่อาศัยเช่นบ้านหรือคอนโด ทำให้เวลาจะพกพาไปไหนนั้นไม่สะดวกเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเหตุให้บางคนอาจลืมหยิบบางอย่างมา บางคนอาจรู้สึกเปลืองพื้นที่เวลาต้องไปทริปหรือไปต่างถิ่นที่ไกลจากบ้านเพียงไม่กี่วัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้เราเกิดไอเดียที่จะทำบรรจุภัณฑ์ที่ครบจบในสิ่ง ๆ เดียวขึ้นมา
แผนการตลาด
กลุ่มเป้าหมาย
บุคคลทั่วไปไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่ต้องไปเข้าค่าย นักศึกษาที่ต้องไปทำกิจกรรมต่างถิ่น หรือบุคคลที่ต้องการไปเที่ยวหรือจัดทริปไม่กี่วัน รวมไปถึงบุคคลที่ต้องการประหยัดพื้นที่ในกระเป๋าด้วยเช่นกัน
จุดประสงค์ของบรรจุภัณฑ์นี้
1.เพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บสำหรับทริปไม่กี่วัน
2.เพื่อใช้วัสดุให้คุ้มค่าที่สุด
3.เพื่อความสะดวกสำหรับคนที่ไม่ได้พกอุปกรณ์มาหรือนำมาไม่ครบ
4.สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อโดยที่ไม่ต้องซื้อหลายอย่างรวมกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
5.สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
เป้าหมายในการพัฒนาแบรนด์
เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงความรู้ด้านวัสดุพื้นฐาน เช่น การแยกทิ้งขยะโดยที่ฉลากของบรรจุภัณฑ์นี้จะบอกวิธีการทิ้งขยะและแยกขยะไว้ นอกจากนี้ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้วัสดุต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณค่าที่สุด เนื่องจากบรรจุภัณฑ์นี้เราใช้ทุกส่วนของตัวบรรจุภณฑ์ให้มีประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อกันให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์อาบน้ำที่พกพาสะดวก หรือการที่สามารถนำมาเล่นต่อบล็อคก็ตาม
การออกแบบ
ลักษณะของตัวบรรจุภัณฑ์เป็นสีใสแต่ไม่ใสมาก ยังคงมีความทึบและขุ่นอยู่บ้างเล็กน้อยแต่สามารถมองเห็นข้างในได้ และมีกล่องฉลากกระดาษแบบหนาเพื่อแขวนขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยกล่องฉลากจะมีข้อมูลทั่วไปเช่นวันที่ผลิต สถานที่ที่ผลิต จำนวนของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ และอื่น ๆ
รูปแบบการดีไซน์ของตัวบรรจุภัณฑ์ได้แรงบันดาลใจมาจากเลโก้ เพราะนอกจากจะใช้ใส่เป็นบรรจุภัณฑ์ของแชมพูและอื่น ๆ แล้วนั้น ถ้าต้องการแยกชิ้นส่วนเพื่อใส่อย่างอื่นเช่นดินสอและยางลบก็สามารถทำได้ นอกจากนี้เรายังออกแบบมาในรูปแบบของการใช้ซ้ำและประหยัดพื้นที่และวัสดุ กล่องทุกชิ้นสามารถแยกออกจากกันได้ และสามารถต่อเข้าด้วยกันได้เช่นกัน และหากต้องการพกพาสิ่งของไปไม่มากเช่นอยากพกไปแค่แปรงสีฟันและยาสีฟัน ก็สามารถดึงกล่องที่ไม่ได้ต้องการนำไปด้วยออกได้
กิจกรรมการตลาดและการพัฒนาแบรนด์ผ่านบรรจุภัณฑ์
ออกลายพิเศษแต่ละช่วงเทศกาลหรือให้ผู้ซื้อนั้นมีส่วนร่วมในการออกแบบลายและสี นอกจากนี้ยังมีหลากหลายสีให้เลือกใช้และสามารถซื้อมาและเลือกใช้แค่สีที่ต้องการใช้และประกอบต่อเข้าด้วยกันได้ และยังสามารถนำกล่องไปใส่อย่างอื่นได้เช่น แหวน สร้อยคอ ต่างหู ดินสอ ไม้บรรทัด และอื่น ๆ ที่ต้องการ หากไม่ใช้แล้วยังสามารถให้เด็ก ๆ เล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการต่าาง ๆ ของเด็กได้ หากเบื่อแล้วอาจบริจาคให้เด็กผู้ยากไร้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้เช่นกัน และด้วยความหลากหลายของฟังก์ชันโดยเฉพาะการเลือกสีกล่องนำมาต่อเองได้ว่าต้องการเก็บอะไรให้เป็นกลุ่มเดียวกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวบรรจุภัณฑ์กับผู้ใช้งานอีกด้วย
การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากดีไซน์ที่ออกแบบมาเพื่อความสะดวกและเพื่อประหยัดวัสดุแล้วนั้น เรายังมีการคาดการณ์ว่าจะใช้ Bio-PE (Bio-based Polyethylene) เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์นี้ เนื่องจาก Bio-PE (Bio-based Polyethylene) นั้นมีโครงสร้างทางเคมีเหมือน PE(Polyethylene) มากและมีคุณสมบัติการใช้งานที่คล้ายคลึงกัน แต่มาจากแหล่งที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แหล่งที่มาของ PE (Polyethylene) นั้นผลิตจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นทรัพยากรฟอสซิลที่ไม่สามารถทดแทนได้ การผลิต PE แบบดั้งเดิมก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก เนื่องจากใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่มีคาร์บอนสูง ในส่วนของ Bio-PE (Bio-based Polyethylene) นั้นผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียน เช่น อ้อย ข้าวโพด หรือพืชอื่น ๆ ในกระบวนการผลิตของ Bio-PE คาร์บอนที่ถูกดูดซึมจากบรรยากาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชจะแทนที่คาร์บอนจากแหล่งปิโตรเลียม ทำให้ Bio-PE มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า PE
นอกจากนี้ Bio-PE และ PE มีโครงสร้างโมเลกุลเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างในด้านทางเคมี นั่นหมายความว่า Bio-PE มีคุณสมบัติทางกายภาพเหมือนกับ PE ทั่วไป เช่น ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และทนต่อการซึมน้ำ และเนื่องจากโครงสร้างและคุณสมบัติเหมือนกัน จึงสามารถใช้งานได้ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น การทำบรรจุภัณฑ์ ถุงพลาสติก ขวด หรือภาชนะต่าง ๆ นอกจากนี้ทั้ง Bio-PE และ PE ไม่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามธรรมชาติ เนื่องจากมีโครงสร้างทางเคมีที่เสถียรเหมือนกัน พวกมันสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหากไม่ถูกกำจัดอย่างเหมาะสม และทั้ง Bio-PE และ PE สามารถนำไปรีไซเคิลได้ในระบบการรีไซเคิลของ PE ทั่วไปโดยไม่ต้องแยกออกจากกันอีกด้วย
ในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นการผลิต PE แบบดั้งเดิมก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรฟอสซิลและปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ Bio-PE ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากมาจากทรัพยากรหมุนเวียน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิต Bio-PE ต่ำกว่า PE แบบดั้งเดิม แต่ในด้านการย่อยสลายยังมีปัญหาเช่นเดียวกับ PE ปกติ จึงยังคงมีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายได้ ดังนั้น Bio-PE ควรแยกและทิ้งในถังขยะสำหรับพลาสติกรีไซเคิล (เช่นเดียวกับ PE จากปิโตรเลียม) โดยทำความสะอาดและบีบอัดเพื่อลดขนาดก่อนทิ้ง เพื่อให้แน่ใจว่าพลาสติกจะถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง
การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ
จุดแข็งที่สามารถต่อยอดได้: สามารถต่อยอดในเรื่องของการดีไซน์ไม่ว่าจะเป็นการออกรูปแบบดีไซน์ใหม่มา สี หรือลาย สามารถนำมาออกแบบเพื่อให้ผู้คนสนใจได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความหลากหลายของฟังก์ชันและความทนทานของวัสดุอีกด้วย
จุดอ่อน: ในด้านของผลิตภัณฑ์ข้างใน ด้วยความที่เราไม่สามารถเลือกได้ และด้วยความชอบของแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแพ้ผลิตภัณฑ์ต่างๆอยู่อีก
โอกาศ: เนื่องจากผู้คนที่ชอบท่องเที่ยวต้องการความสะดวกสบาย บรรจุภัณฑ์ของเราจึงตอบโจทย์เป็นอย่างมาก และเนื่องจากพกพาสะดวกและมีฟังก์ชันหลากหลาย ทำให้ทั้งเด็กที่ชอบความเพลิดเพลินสนใจ และทำให้ผู้ใหญ่ที่ต้องการความสะดวกสบายสนใจด้วยเช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง: เนื่องจากในยุคปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของไวรัสต่าง ๆ ทำให้คนบางกลุ่มไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวกันมากนัก การซื้อขวดแพ็คใหญ่จึงมีความคุ้มค่ามากกว่าการซื้อเซ็ตแพ็คสำหรับออกทริปไม่กี่วัน
การวัดผลทางการตลาด
1.การยิงแอดโฆษณา
2.คิวอาร์โค้ดสำหรับเล่นเกมเพื่อคลายเครียด และนับยอดการเข้าถึงของแบรนด์
3.การให้ผู้ซื้อมีส่วนร่วมในการออกแบบลายและสีต่างๆโดยการจัดกิจกรรมและนับยอดการเข้าถึงและสนใจ